วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อาชีพเสริมรายได้ดีวันนี้ขอนำเสนอเรื่องการเขียนข่าวแจก (Press Release)


อาชีพเสริมรายได้ดีวันนี้ขอนำเสนอเรื่องการเขียนข่าวแจก (Press Release) การเขียนข่าวแจกแบบพีระมิดหัวกลับ เป็นแบบของการเขียนข่าวแจกที่ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นการเขียนที่ให้ประเด็นสำคัญ (climax) ของข่าวก่อนให้รายละเอียด (detail) ทำให้สะดวกในการอ่าน และสะดวกแก่การทำงานของบรรณาธิการข่าว ที่ไม่ต้องเสียเวลาในการอ่านเนื้อหาทั้งหมด ก็สามารถที่จะพิจารณาและตัดสินใจเลือกข่าวได้จากย่อหน้าแรก ๆ

โครงสร้างของการเขียนข่าวแจก สามารถแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ
1. พาดหัวข่าว (heading) เป็นส่วนแรกของข่าวแจกที่จะเรียกร้องความสนใจในข่าวแต่ละข่าว โดยเขียนสรุปเนื้อหาข่าว เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถประเมินความสำคัญของข่าวนั้นได้ ด้วยเพียงแต่มองผ่านไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น และหากผู้อ่านสะดุดตาสะดุดใจก็จะติดตามอ่านข่าวนั้นอย่างละเอียดต่อไป

2. พาดหัวรอง (sub - heading) เป็นส่วนขยายพาดหัวข่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะมีหรือไม่มีก็ได้

3. ความนำ (lead) หรืออาจเรียกว่า วรรคนำ หรือ โปรย เป็นส่วนที่เขียนขึ้นในย่อหน้าแรกของข่าว เพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่านและเสนอข้อมูลที่น่าสนใจรองจากพาดหัวข่าว เป็นการขยายพาดหัวข่าว โดยนำองค์ประกอบของข่าวคือ ใคร (who) ทำอะไร (what) ที่ไหน (where) เพราะเหตุใดหรือทำไม (why) และอย่างไร (how) ที่เรียกว่า "5W + 1H" ขึ้นมาเขียนนำไว้ ความนำจะเป็นข้อความที่เป็นเนื้อข่าวโดยย่อทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้อ่านจับใจความได้ทันที ความนำที่เป็นที่นิยมในการเขียนข่าวแจกคือ ความนำแบบสรุป (summary lead) ซึ่งเขียนสรุปย่อสาระสำคัญจากข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของข่าว ซึ่งองค์ประกอบของข่าวในที่นี้ คือ ให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร

4. ส่วนเชื่อม (neck หรือ bridge) เป็นส่วนเชื่อมข้อความระหว่างความนำกับเนื้อหาที่ต่อเนื่องกันอาจมีความยาวประมาณ 1 ย่อหน้าสั้น ๆ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของเนื้อหาและดุลยพินิจของผู้เขียนว่า จะเชื่อมโยงข้อความในจุดไหน โดยทั่วไปส่วนเชื่อมจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มเติมข้อความบางส่วน เช่น ตำแหน่งหน้าที่ของบุคคล สถานที่ ซึ่งหากใส่ไว้ในความนำ อาจจะยาวเกินไป นอกจากนี้ ส่วนเชื่อมยังเป็นข้อความที่ต่อเนื่องข้อความที่มีความสำคัญรองลงมาจากที่ปรากฏในความนำ รวมทั้งบอกที่มาของข่าว หรือแหล่งข่าว และให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของเหตุการณ์ หรือความเดิมที่เกิดมาแล้วด้วย

5. เนื้อข่าว (body หรือ detail) คือ ส่วนที่อธิบายข้อเท็จจริงในความนำ โดยให้รายละเอียดของเหตุการณ์หรือเรื่องราวจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบ และเข้าใจลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นส่วนที่จะให้ข้อมูลและความละเอียดที่มากกว่าในส่วนวรรคนำและส่วนเชื่อม หรือกล่าวได้ว่า เป็นส่วนขยายวรรคนำ และวรรคเชื่อมให้สมบูรณ์ที่สุด เนื้อข่าวอาจมีขนาดสั้น หรือมีความยาวมากเป็นข่าวหลายวรรคตอน ข่าวสั้นซึ่งมีความยาวเพียงวรรคเดียวนั้น ความนำกับเนื้อข่าวจะเป็นอันเดียวกัน และอยู่ภายในวรรคเดียวกัน การเสนอเนื้อข่าวมักจะเสนอตามลำดับความสำคัญของเรื่องราว จากสำคัญที่สุดไปถึงสำคัญน้อยที่สุด หรืออาจเสนอข่าวตามลำดับเวลาหรือเหตุการณ์ก็ได้

6. สรุป (conclusion) ส่วนท้ายของข่าวแจกอาจจะมีการสรุปไว้ก็ได้ ข่าวแจกบางข่าวเพียงแต่เขียนแสดงความเป็นมา และบอกข้อเท็จจริงล้วน ๆ แต่บางข่าวกลับหาข้อสรุปซึ่งอาจจะเป็นจุดใดจุดหนึ่งของข่าว หรือเขียนย้ำข้อเท็จจริงเด่น ๆ ที่ได้เสนอไปแล้วในความนำและตัวข่าวอีกครั้งก็ได้

การจัดทำภาพข่าวแจก
ภาพประกอบสำหรับข่าวแจก จัดทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้สื่อสิ่งพิมพ์ สามารถนำไปใช้ประกอบการตีพิมพ์ข่าวได้ ภาพข่าวควรมีความชัดเจน มีชีวิตชีวา สามารถบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้รับสารเข้าใจได้ นอกจากนี้ควรมีคำอธิบายภาพ (caption) ซึ่งมีรายละเอียดว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร บรรยายไว้ใต้ภาพด้วย

การจัดทำแฟ้มคู่มือสำหรับแจกให้สื่อมวลชน (Press Kits)

แฟ้มคู่มือนี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้อ้างอิง หรือการนำเอาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ขององค์กรไปใช้ประกอบการนำเสนอข่าว ภายในแฟ้มควรประกอบไปด้วย ข่าวแจก ภาพถ่าย รายละเอียดโครงการ ประวัติความเป็นมาขององค์กร ฯลฯ ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรเพื่อใช้สำหรับแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนในโอกาสพิเศษ หรือวาระสำคัญต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรม การประชุม การแถลงข่าว หรือการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ฯลฯ

Cr. ฅนโรงแรม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น